วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปลานวลจันทร์ทะเล-01 (ชีววิทยาและการแพร่กระจาย)

ปลานวลจันทร์ทะเล-01 (ชีววิทยาและการแพร่กระจาย)

ชีววิทยาและการแพร่กระจายของปลานวลจันทร์ทะเล (Chanos  chanos F orskal)

       ปลานวลจันทร์ทะเลจัดเป็นปลาทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เช่น  ฟิลิปปินส์  ไต้หวัน  เนื่องจากเป็นปลาที่มีรสชาติดี  เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว  นอกจากนี้ยังเป็นปลาซึ่งเลี้ยงได้ง่าย  มีความต้านทานโรคค่อนข้างสูง  และสามารถอาศัยอยู่ได้ในระดับความเค็มช่วงกว้าง ในการจำแนกทางอนุกรมวิธานนั้นปลานวลจันทร์ทะเลจัดเป็นปลาใน  Phylum  Vertebrata,  Class Teleostri,  Order  Gonorhynchifornes  จัดอยู่ใน  Family Chanidae  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Chanos  chanos  Forskal  มีชื่อสามัญว่า  Milkfish  และมีชื่อไทยว่าปลานวลจันทร์ทะเลหรือปลาดอกไม้


       มีลักษณะทางกายภาพคือ  เป็นปลาที่มีรูปร่างยาวเพรียว  ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย  ค่อนข้างกลม  ตามีเยื่อไขมันคลุมตลอด  เกล็ดมีขนาดถี่  เป็นเกล็ดประเภท  Cycloid  Scale  เรียบไปตามตัว  ครีบหลังและครีบก้นมีเกล็ดติดตามก้านครีบ  มีเส้นข้างลำตัว  (Lateral  line)  เห็นชัดเจน  ครีบหางเว้าลึกแบบส้อม  (Forked  type)  ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวยาวกว่า 1 เมตร  หนักกว่า  15  กิโลกรัม  ตามปกติอาศัยอยู่ในทะเล  เป็นปลาว่ายน้ำเร็ว  อาศัยบริเวณผิวน้ำ (Pelagic  fish)  มีนิสัยชอบย้ายถิ่นอาศัยเพื่อการหาอาหารและผสมพันธุ์
     
       ในธรรมชาติปลานวลจันทร์ทะเลจะเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ  5  ปี  ตัวเมียสามารถให้ไข่ได้ครั้งละประมาณ  200,000  ฟองต่อน้ำหนักแม่ปลาหนึ่งกิโลกรัม  พ่อแม่พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลจะเริ่มพัฒนาระบบการสืบพันธุ์ในเดือนกุมภาพันธ์และจะเริ่มวางไข่จากเดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม

       การแพร่กระจายของปลานวลจันทร์ทะเลพบในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มหาสมุทรอินเดีย  อาฟริกา  ออสเตรเลีย  นิวกินี  หมู่เกาะโซโลมอน  หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก  และทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก  โดยมีการแพร่กระจายอยู่ในเขตที่มีอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า  20  องศาเซลเซียส  โดยเฉพาะในบริเวณที่มีกระแสน้ำอุ่นไหลผ่าน  ปลาที่โตเต็มวัยมักพบอาศัยอยู่บริเวณนอกเขตชายฝั่งใกล้หมู่เกาะและไหล่ทวีป
     
       สำหรับในประเทศไทยพบปลานวลจันทร์ทะเลมากในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร  เพชรบุรีและบางส่วนของจังหวัดตราด ในประเทศไทยมีการสำรวจพบลูกปลานวลจันทร์ทะเลครั้งแรกบริเวณบ้านคลองวาฬ  อำเภอเมือง  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  หลังจากนั้นได้มีการสำรวจพบว่า
บางส่วนในเขตจังหวัดชุมพร  ลูกปลาที่พบมีรูปร่างเรียวยาวขนาดเข็มเย็บผ้ายาว  1.5-2  เซนติเมตร  ตัวใส  ตากลมโตสีดำ  กินตะไคร่น้ำ  ไรน้ำและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร



       การเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลได้มีการเลี้ยงกันมาเป็นเวลานานในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร  เพชรบุรี  เป็นต้น  โดยลูกปลาที่เลี้ยง  ได้จากการรวบรวมจากธรรวมชาติ  ในช่วงเดือนเมษายนนิยมเลี้ยงปลาในบ่อดิน  ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ  8  เดือนจะได้ปลาน้ำหนักประมาณ 600  กรัม  ปัจจุบันนอกจากจะเลี้ยงเป็นปลาเนื้อแล้วยังมีการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเพื่อทำเหยื่อล่อปลาทูน่าชนิดต่างๆด้วย

       ปัญหาสำคัญของการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลทีสำคัญคือการขาดแคลนลูกปลา  ส่วนใหญ่ลูกปลานวลจันทร์ทะเลที่ทำการเลี้ยงในปัจจุบันได้มาจากการรวบรวมจากธรรมชาติซึ่งมีปริมาณไม่แน่นอนเนื่องจากปัญหาด้านมลภาวะทางน้ำเริ่มมีมากขึ้นทำให้จำนวนลูกปลาที่ได้จากธรรมชาติ ลดน้อยลง  นอกจากนั้นแม้ว่าจะเป็นปลาที่มีรสชาติดีแต่ก็เป็นปลาที่มีก้างมาก  ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยไม่นิยมรับประทาน  ส่วนในต่างประเทศเช่นในประเทศฟิลิปปินส์นั้นมีกรรมวิธีในการเอาก้างออก  (Debone)  ทำให้เป็นที่บริโภคกันอย่างแพร่หลาย  ซึ่งในปัจจุบันนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ได้ศึกษาวิธีการดังกล่าวจนสามารถเอาก้างออกได้เช่นเดียวกับต่างประเทศแล้ว

       อย่างไรก็ตามปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลากินพืชที่เลี้ยงง่าย  ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ  สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆกันไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นน้ำจืดหรือน้ำเค็มจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกสำหรับผู้บริโภค

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
เอกสารประกอบการอบรมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการประมง(ชายฝั่ง)
การเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์
รวบรวมโดย  ประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น