วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปลานวลจันทร์ทะเล-05 (สาระน่ารู้ 1)

 ปลานวลจันทร์ทะเล-05 (สาระน่ารู้ 1)     

       ก่อนอื่นเรามารู้จักปลานวลจันทร์ทะเลกันก่อนเพราะมีหลายคนสับสนว่าเป็นชนิดเดียวกันกับปลานวลจันทร์เทศที่อยู่น้ำจืดและนิยมมาทำปลาส้มปลาจ่อมหรือไม่ สำหรับปลานวลจันทร์ทะเลที่เป็นพระเอกวันนี้ มีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อได้แก่ ปลาชะลิน ไฮลิ้ง ปลาดอกไม้ ปลาทูน้ำจืด ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ คือ Milk fish ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Chanos chanos (Forskal) เป็นปลาที่อยู่ได้สองน้ำคือน้ำทะเลและน้ำกร่อยแต่สามารถปรับสภาพแล้วนำไปเลี้ยงในน้ำจืดได้ ในธรรมชาติแพร่กระจายแถบชายฝั่งและทะเลแถบอินโดแปซิฟิค ลูกปลาวัยอ่อนอาศัยอยู่ชายฝั่ง ป่าชายเลน เมื่อเติบโตจะอพยพไปสืบพันธุ์ในทะเล กินอาหารหลากหลายชนิดทั้งพืชน้ำ แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย สารอินทรีย์ ขี้แดด (Rap-rap) ลูกกุ้ง สัตว์น้ำขนาดเล็กกว่า รวมทั้งอาหารกุ้งทั้งที่หว่านลงไปและอยู่ที่พื้น รู้อย่างนี้แล้วหลายท่านคงลังเลหรือหากจะเลี้ยงร่วมกับกุ้งคงต้องปล่อยกุ้งก่อนหลายวันจนกุ้งได้ขนาดสักนิ้วก้อยนะครับ



       ส่วนปลานวลจันทร์เทศ เป็นปลาน้ำจืดขนานแท้ กลุ่มเดียวกับปลาตะเพียน มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Mrigal ชื่อวิทยาศาสตร์ Cirrhinus cirrhosus (Bloch, 1795) อาศัยตามแม่น้ำ หนอง คลองบึง โดยที่มีพื้นเพถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของเอเชียใต้ และเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ ปัจจุบันแพร่พันธุ์ในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย เป็นปลากินพืชแต่กินอาหารได้หลากหลายเช่นเดียวกับปลานวลจันทร์ทะเลเช่นกัน แต่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงในบ่อน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มเช่นปลานวลจันทร์ทะเลได้


1. ข้อเท็จจริงของกระบวนการเน่าเสียในบ่อพักน้ำก่อนที่จะมีปลานวลจันทร์ทะเล

       ก่อนอื่นต้องขอเล่าให้ทราบว่าในบ่อพักน้ำหรือ Reservoir นั้น เริ่มต้นที่สูบน้ำมาพักโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะสำรองไว้สำหรับกิจกรรมการเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงนั้น เท็จจริงแล้วมีกระบวนการอะไรเกิดขึ้น หลายท่านอาจไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว ที่ผ่านมาเรากำลังสูบน้ำดีมาทำให้เน่าเสียเกิด Toxic แล้วจึงเอาไปเลี้ยงสัตว์น้ำ อย่างนี้จะประสบผลสำเร็จได้อย่างไรต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อน กระบวนการเน่าเสียในบ่อพักน้ำเกิดจากอะไรและปลานวลจันทร์ไปเก็บของเสียออกได้อย่างไร มีลำดับขั้นตอนกระบวนการและสาเหตุที่สามารถแบ่งแยกไม่มาก ได้แก่

       1.1 ความรุนแรงจากแรงอัดหรือใบพัดของปั๊มพ์น้ำหรือเครื่องสูบ เครื่องดัน โดยเฉพาะจากเครื่องสูบน้ำที่มีแรงดันหรือความเร็วรอบเครื่องสูงเป็นผลให้แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย ไข่ ตัวอ่อนสัตว์น้ำ เกิดการตายเป็นคราบสารอินทรีย์แขวนลอยในบ่อที่ต่อไปจะเน่าเสียเกิดเป็นสารก่อภูมิแพ้ต่อสัตว์น้ำ (แอมโมเนีย ไนไตรท์ ไนเตรด) หากไม่มีการกำจัดเก็บออก
       1.2 แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ไข่ และตัวอ่อนของสัตว์น้ำ บางส่วนที่เหลือรอดจากการถูกทำลายโดยเครื่องสูบน้ำเมื่อมาอยู่ในสภาพแวดล้อมจากที่ต่างจากที่เคยอยู่ในคลองหรือทะเลที่มีอากาศ มีกระแสน้ำคลื่นลมพัดพาสารอาหารเข้าหา กลับต้องมาอยู่ในสภาพบ่อพักน้ำที่เป็นสภาพน้ำนิ่ง น้ำร้อน รวมทั้งสารอาหารไม่เพียงพอจึงเกิดการตายขึ้น
       1.3 การตายที่เป็นวัฏจักรของแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในบ่อพักน้ำหลังจากการเพิ่มจำนวนของแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ขึ้นมากแล้วเกิดการตายขึ้นในลักษณะซิกมอยด์ เคิร์บ (Sigmoid curve) หรือกราฟรูปตัวเอสนั่นเอง

       การตายของสิ่งมีชีวิตจากสาเหตุทั้งสามประการนี้สามารถพบเห็นเป็นรูปธรรมในลักษณะของคราบบนผิวน้ำหรือสารแขวนลอยในมวลน้ำ ในช่วงนี้เริ่มมีกระบวนการปล่อยความเป็นพิษจากการเน่าเสียในกลุ่มไนโตรเจนชั้นหนึ่งก่อนแล้ว การตรวจสอบคุณภาพน้ำอาจพบได้ในรูปของโททอลแอมโมเนีย
       ดังนั้นในช่วงนี้หากไม่มีการเก็บหรือกำจัดออกสารอินทรีย์เหล่านี้ ก็จะตกลงสู่ก้นบ่อกลายเป็นอาหารของจุลชีพที่มีอยู่ในธรรมชาติรวมทั้ง สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่ช่วยย่อยสลายสังเกตุ ตามพื้นบ่อที่น้ำใสแสงส่องถึงจะเห็นคราบเป็นแผ่นพื้นเขียวอมเทาซึ่งเมื่อเกิดกระบวนการสังเคร์แสงจะเกิดแกสออกซิเจนที่เป็นผลพลอยได้ผลักดันให้แผ่นคราบสารอินทรีย์เหล่านี้หลุดร่อนลอยอยู่บนผิวน้ำที่เรารู้จักในชื่อของขี้แดด (Rab-rab) นั่นเอง เจ้าตัวนี้แหละหากไม่มีการกำจัดออก จมลงสู่พื้นบ่ออีกครั้งเกิดการเน่าเสียอย่างรุนแรงและผลที่ตามมาคือแกสไข่เน่าหรือแกสไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่เป็นกระบวนการย่อยสลายของแบคทีเรียกลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic bacteria) นั่นเอง


---------------------------------------------------------------------------------------------------------
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์
รวบรวมโดย  ประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น