วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปลานวลจันทร์ทะเล-07 (สาระน่ารู้ 3)

ปลานวลจันทร์ทะเล-07 (สาระน่ารู้ 3)

4. แนวคิดที่เหมาะสมต่อการลดปุ๋ยและแพลงก์ตอนส่วนเกินในบ่อเลี้ยงกุ้ง

       แนวคิดการใช้ “สาหร่ายทะเล” ชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมแต่ละย่านความเค็มของน้ำทะเลที่ใช้เลี้ยงกุ้งทะเลโดยเฉพาะท่านผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง ดร.คมน์ ศิลปาจารย์ ท่านเล่าให้ฟังว่า สาหร่ายทะเลจะทำหน้าที่ดึงปุ๋ย (N, P, K) ส่วนเกินที่เกิดในบ่อเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาทั้งจากสิ่งขับถ่ายกุ้ง เศษอาหาร การตายของแพลงก์ตอนพืชในบ่อ อันจะเป็นเชื้อชนวนให้เกิดการบลูม (Bloom) ของแพลงก์ตอนพืชจำนวนมาก และเมื่อแพลงก์ตอนเหล่านี้มีการตาย สิ่งที่จะตามมาคือการเน่าเสีย เกิดสารก่อภูมิแพ้ คือเจ้าแอมโมเนีย ไนไตรท์ ไนเตรด นี่เอง นี่ละครับตัวการที่ทำให้กุ้งเครียด ไม่กินอาหาร อ่อนแอ ติดเชื้อง่าย และตายในที่สุด นอกจากนี้ผลพลอยได้ที่ตามมาคือสาหร่ายทะเลที่มีซอกหลืบให้แพลงก์ตอนสัตว์ที่กินแพลงก์ตอนพืช ยีสต์ โปรโตซัว แบคทีเรีย เช่น โรติเฟอร์ โคพีพอด แมลงน้ำชนิดต่างๆ ได้อาศัยหลบซ่อนตัวยืดเวลาการถูกกุ้งจับกินออกไป ขณะเดียวกันก็เติบโตผสมพันธุ์สร้างผลผลิตส่วนเกินออกมาเป็นอาหารแก่กุ้งปลาต่อไป

5. ปลานวลจันทร์ทะเลที่ปล่อยในบ่อเมื่อโตแล้วเอาไปทำอะไร

       การเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลแบ่งเป็น ๒ แบบ แบบแรกคือการปล่อยเลี้ยงในบ่อพักน้ำกินอาหารธรรมชาติทีมีอัตราความหนาแน่นต่ำมาก จึงเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการเลี้ยงแบบหนาแน่นในบ่อแบบพัฒนาหรือมีขนาด 1,000 - 1,500 กรัม ภายในเวลา 7-8 เดือน แต่ผลผลิตปลาที่ขนาดต่างกันและมีจำนวนไม่มาก รวมทั้งไม่มีความต่อเนื่อง ก็จะไม่มีอำนาจต่อรองทางการตลาด และปลานวลจันทร์นี้หากจะนำมาบริโภคต้องนำไปบั้งให้ถี่ก่อนเคล้าเกลือแล้วนำไปทอด เนื่องจากเป็นปลาที่มีก้างในตัวมาก ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยนิยมบริโภคแม้ว่ารสชาติจะดีเอามากๆ นอกจากนี้อาจนำไปต้มเค็มหวานแบบปลาตะเพียน เคี่ยวให้ก้างนิ่ม หรือเมนูยอดนิยมอีกอย่างคือ แล่เป็นชิ้นปรุงรส ตากแห้งแดดเดียว ก็อร่อยไม่เบา ที่แนะนำแบบนี้คือต้องทำเองนะครับเพราะอย่างที่บอกว่าผลผลิตจำนวนน้อยเมื่อนำไปขายตลาดมักจะไม่มีอำนาจต่อรองครับ


       ส่วนแบบที่สองเป็นการเลี้ยงแบบพัฒนาที่มักปล่อยปลากัน 20,000-40,000 ตัว/ไร่ และใช้เวลาเลี้ยง 8-10 เดือน จึงจะได้ขนาดที่ตลาดต้องการหรือ ขนาดระหว่าง 700-800 กรัม แต่การเลี้ยงแบบพัฒนาก็จะต้องให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปชนิดลอยน้ำ มีการเพิ่มอากาศด้วยใบพัดตีน้ำและการสูบเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จากการศึกษาพบว่าปลานวลจันทร์ที่เลี้ยงน้ำกร่อยหรือน้ำทะเลความเค็มไม่สูงมากนักจะโตเร็วกว่าการเลี้ยงในน้ำความเค็มสูงหรือร่นระยะเวลาลงเหลือ 7-8 เดือน ทีเดียว สำหรับราคาปัจจุบันซื้อขายกันที่ปากบ่อ กิโลกรัมละ 70 บาท เชียวนะครับ ทั้งนี้ต้นทุนอยู่ประมาณ 8-30 บาท/กิโลกรัม ในอนาคตหากมีการพัฒนาการเลี้ยงโดยใช้หญ้าเลี้ยงสัตว์บกที่มีโปรตีนสูงเป็นอาหารเสริมก็อาจช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงลงได้บ้าง ปลาที่ได้ส่วนใหญ่ก็ส่งตลาดกรุงเทพฯ ให้คนไทยเชื้อสายจีนและชาวไต้หวันที่อยู่เมืองไทยได้ซื้อหามาบริโภคกัน


ที่ผ่านมากรมประมง โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ร่วมกับศูนย์ฯ ประจวบคีรีขันธ์ ได้ส่งเสริมการเลี้ยง การแปรรูป เป็นปลานวลจันทร์ถอดก้าง ปลาก้างนิ่มรมควันเพื่อขจัดปัญหาก้างจำนวนมากในเนื้อ ผ่านวิธีการฝึกอบรมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านประมงชายฝั่งทุกปี ทั้งเร่งพัฒนากาเทคนิคการเพาะพันธุ์รวมทั้งศึกษาวิจัยให้ปลานวลจันทร์สามารถวางไข่ผสมพันธุ์ได้ตลอดปีอย่างต่อเนื่อง และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรวบรวมลูกปลาที่เกิดเองในธรรมชาติมาส่งให้ศูนย์ฯ เป็นผู้แจกจ่าย จำหน่ายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น